เรื่อง เงินๆทองๆ ที่โรงเรียน(มักจะ)ไม่ได้สอน $$

ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า เรื่องของการบริหารจัดการเงิน ถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆต่อความเป็นอยู่ของแต่ละครอบครัว
เคยเห็นคนที่เรียนจบสูงๆ เงินเดือนเป็นหลัก แสน หรือ หลักหมื่นปลายๆ แต่ใช้เงิน เดือนชนเดือน ไหมครับ
แย่ไปกว่านั้น คนที่เงินเดือนสูงๆ มักจะมีฐานเครดิตที่สูง ซึ่งนำไปสู่วงเงินในบัตรเครดิตที่สูง
สุดท้ายหากบริหารจัดการเงินการใช้จ่ายไม่ดี เป็นหนี้นับล้านๆ ก็พอมีให้เห็นอยู่
ในทางกลับกัน ทำไมบางคนเงินเดือนไม่ได้มากมายอะไร แต่มีเงินเหลือเก็บออม ฝากธนาคารทุกๆเดือน
มีเงินก้อนในธนาคาร หรือ สะสมในรูปแบบของเงินสำรองในกองทุนต่างๆ

ผมลองสังเกตุดูจากแบบเรียนที่สอนในโรงเรียนของลูกๆผม กลับเป็นที่น่าตกใจว่า แทบไม่มีวิชาไหน หรือ ช่วงไหน
ในโรงเรียน ที่ลูกๆผมเรียน จะสอนวิชาเกี่ยวกับการใช้เงิน หรือ การบริหารจัดการเงิน แบบเป็นเรื่องเป็นราวบ้างเลย
เท่าที่มีสอนใกล้เคียงก็เห็นจะเป็นวิชาสังคมศึกษา ที่จะมีสอนเกี่ยวกับ เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น
และ วิชา ประวัติศาสตร์ ที่จะสอนถึงหลักแนวทางเศรษฐพอเพียง ของในหลวง ร.9 แต่หลักที่สอนจะเป็นเนื้อหาแบบกว้างๆ
ในแบบที่จับต้องไม่ได้ ทำให้ยากต่อการที่จะนำมาปฎิบัติในชีวิตจริงได้

ผมและภรรยา เติบโตมาจากครอบครัวที่ทำการค้าขายเราจึงเคยได้รับการสอนเรื่องเกี่ยวกับ เงินๆทองๆ มาตั้งแต่เด็ก
พอถึงเวลาที่เรามีลูกบ้าง จึงนำแนวทางเหล่านี้มาปรับใช้ดูกับลูกๆ ตัวอย่างง่ายๆที่ผมพอจะนึกออก เช่น

1) ตอนลูกๆเล็กมาก เวลาพาไปห้างแล้วต้องกดเงินออกมาจาก ATM ผมจะพาลูกๆไปดูเวลาที่ผมกดเงินออกมา
และมักจะสอนลูกๆว่า เงินที่กดออกมาจากเครื่องนี้มันไม่ได้ออกมาเฉยๆเวลาที่เรากดนะลูก คือเราต้องเอาเงินไปฝากใน ธนาคารก่อน
เวลามีเงินในธนาคาร เราถึงจะกดเงินออกมาได้ เวลาไปฝากเงินในธนาคาร ผมมักจะพาลูกๆไปด้วย แล้วเล่าให้เขาฟังว่า
เราเอาเงินมาฝากไว้ก่อน เวลาเรากดเงินจะได้มีเงินออกมาจากเครื่องได้ไง ...จริงๆที่ผมสอนแบบนี้เพราะผมกลัวลูกๆผมจะคิดว่าเงินหาง่าย
แค่กดๆตรงตู้เงินก็ออกมาแล้ว 555

2) พอลูกๆเริ่มเข้าโรงเรียน มีเงินค่าขนม ผมจะให้ลูกๆเก็บเงินที่เหลือจากค่าขนมมาหยอดลงกระปุก โดยผมเสนอให้ลูกๆว่า เงินที่หยอดลง
กระปุกเมื่อนับได้เท่าไหร่ ผมจะสมทบให้อีก 1 เท่า เช่นลูกหยอด 20 บาท ผมจะหยอดเพิ่มให้เขาอีก 20 บาท สรุป ลูกๆผมจะมีเงินเหลือมา
หยอดกระปุกทุกๆวันเลย พอหยอดแล้วเขาก็จะมาทวงเงินสมทบกับอย่างตื่นเต้น

3) เมื่อลูกๆโตขึ้นอีกหน่อย (ประมาณ ประถม 6- ม.ต้น) ช่วงตรุษจีน เด็กๆจะชอบมากๆ พอได้เงินแต๊ะเอียมา 2 พี่น้อง ก็จะมานับซองที่ได้กัน
หลังจากได้ยอดเงินมา ผมจะถามพวกเขาว่าอยากเก็บเงินที่ได้มาติดกระเป๋าไว้ใช้ซื้อของอะไรที่อยากได้ และ เท่าไหร่ เมื่อแบ่งจำนวนเงินเสร็จแล้ว
ผมก็จะพาพวกเขาไปเปิดบัญชีที่ธนาคาร และให้พวกเขาเป็นคนนำเงินไปเขียนใบฝาก และ ฝากเข้าธนาคารเอง
พวกเขาก็มักจะดูยอดเงินในสมุดเงินฝากกันอย่างตื่นเต้นและภูมิใจ

4) ผมเริ่มสอนลูกๆให้รับผิดชอบเงินค่าขนมของตัวเองทีละนิด โดยเริ่มให้ค่าขนมลูกๆเป็นรายสัปดาห์ตอนเริ่มเข้า ม.1 ตอนแรกจะให้รายเดือน
แต่เด็กๆกลัวทำเงินหายทั้งก้อนแล้วจะอดกินข้าวทั้งเดือน เลยต่อรองขอเป็นรายสัปดาห์แทน ส่วนคนโตพออายุครบ 16 ทำบัตร ATM ได้แล้ว
ผมให้ไปเปิด บช.บัตร ATM แล้วโอนเงินค่าขนมให้เขาเป็นรายเดือนไปกดใช้ รับผิดชอบเอง หลายๆเดือนพอเงินเขาเหลือเยอะใน ATM
ก็จะถอนเงิน ออกมาฝากใน บช ฝากประจำ ที่ได้ดอกเบี้ยเยอะหน่อย

5) ลูกๆเริ่มโตขึ้น พอรู้เรื่องของดอกเบี้ย ก็จะคอยสอนเขาให้คำนวนผลตอบแทนดู และ เริ่มแนะนำให้ลูกย้ายเงินจาก บัญชี ออมทรัพย์ธรรมดา
มาเป็นแบบดอกเบี้ยสูง ตอนนี้ลูกเริ่มสนใจถึง สลากออมสิน โดยอยากจะลองซื้อเก็บในรูปแบบของสลากออมสินบ้าง  

ตัวอย่างของ บช.ของลูกที่ปิดไป แล้วย้ายไปเปิด บช.ใหม่ที่ดอกเบี้ยเยอะกว่านะครับ
ปล. ผมเก็บ เล่ม บช ไว้ให้ลูกๆ เผื่อตอนพวกเขาโตจะได้เห็นว่าเริ่มมีเงินหลักแสนแรกตอนไหน ^^

บช.ใหม่ ดอกเบี้ยสูงกว่า และ มีดอกเบี้ยเข้าเป็นรายเดือน เด็กๆเห็นก็จะเห็นผลของดอกเบี้ยที่จะได้รับทุกเดือน

เอาคร่าวๆเท่าที่ผมนึกได้ตอนนี้มีเท่านี้นะครับ จริงๆยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่เราทำกันอีกแต่กลัวจะยาวไป แหะๆ
หากใครมีวิธีที่ใช้กับลูก โดยเฉพาะเมื่อลูกๆเข้ามหาลัยฯ แล้วก็มาแชร์ได้นะครับ
เพราะลูกผมเองยังอยู่ มัธยมปลาย และ มัธยมต้น เอง ยังไปไม่ถึงช่วงนั้น ขอบคุณครับ ^^

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่