คุกญี่ปุ่นน่าอยู่...แต่โหดร้าย!?

ที่มาบทความจาก คอลัมน์ สำรับโลก โดย วราภรณ์ สามโกเศศ นิตยสารสกุลไทย รายสัปดาห์ ฉบับที่ 3194 (5 มกราคม 2559)
ภาพประกอบจากเว็บ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


    หากใครไปเยี่ยมคุกญี่ปุ่นก็จะเห็นว่าสะอาด เป็นระเบียบ สงบเงียบ เหมือนบ้านเมืองญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี หากเจาะลึกลงไปแล้วก็จะพบความน่าสังเวชใจของนักโทษอย่างไม่น่าเชื่อ

    ญี่ปุ่นเป็นเมืองที่มีอาชญากรรมต่ำมาก ตำรวจออกตรวจโดยขี่จักรยานและเหน็บไม้กระบองไปทั่ว เพราะไม่มีถนนไหนที่น่ากลัวเป็นพิเศษเหมือนประเทศอื่นๆ อาชญกรรมจากปืนแทบไม่มีคนรู้จัก การจี้ปล้นแทบไม่มี เรียกได้ว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่ เพราะมีความปลอดภัยสูง

    ในกลุ่มประเทศพัฒนาด้วยกันแล้ว ญี่ปุ่นมีอัตรานักโทษต่อประชากร 100,000 คน ต่ำสุดคือ 49 ในขณะที่ตัวเลขสูงสุดคือสหรัฐอเมริกา 698 คน สิงคโปร์ 220 อังกฤษ 148 จีน 119 แคนาดา 106 ฝรั่งเศส 100 เกาหลีใต้ 104 เยอรมนี 78 ไทย 457

    ระบบยุติธรรมของญี่ปุ่นไม่มีการลงโทษผู้กระทำกฎหมายโดยทั่วไปรุนแรง เนื่องจากเน้นการปรับตัวเป็นคนดี ทั้งตำรวจและศาลจะช่วยกันไม่ให้คนทำผิดครั้งแรกติดคุก ถ้าทำผิดเล็กน้อยครั้งแรกก็จะถูกตักเตือนและปล่อยตัว ภาครัฐจะพยายามประสานกับครอบครัวเพื่อให้คนที่ทำผิดกลับเข้าสู่เส้นทางคนดี และหากถูกส่งเข้าคุก ข้างในคุกดูเผินๆก็เหมือนโรงเรียนประจำชั้นดี

    อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ มีจุดอ่อนที่ทำให้นักโทษญี่ปุ่นอาจเป็นนักโทษที่น่าสงสารกว่าหลายประเทศ กล่าวคือระบบยุติธรรมของญี่ปุ่นเน้นการสารภาพเป็นหลัก โดยถือว่าการสารภาพคือก้าวแรกของการกลับตัวเป็นคนดี

    สำหรับอาชญากรรมที่รุนแรงเช่นฆ่าคนตาย ระบบยุติธรรมไม่ปล่อยให้หลุดออกมาหากเล่นงานหนักมาก ตำรวจจะสอบสวนอย่างหนักเพื่อรีดคำสารภาพให้ได้ จนมีสถิติว่า 89 คดีใน 100 คดีที่อัยการฟ้องนั้นมีการสารภาพและเกือบทั้งหมดถูกลงโทษจนทำให้อัตราถูกลงโทษในจำนวนที่ฟ้องสูงถึงร้อยละ 99.8

    เมื่อการบังคับให้สารภาพเป็นหัวใจของการดำเนินงาน ปัญหาก็เกิดตามมาก็คือ ผู้ต้องสงสัยหลายคนยอมสารภาพเพื่อหลีกหนีการถูกสอบสวนชนิดหนักหนาสาหัสของตำรวจญี่ปุ่น ตำรวจและอัยการสามารถกักขังผู้ต้องสงสัยไว้ได้นานถึง 23 วัน โดยไม่มีการตั้งข้อหา ซึ่งนานกว่าที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ กักขังผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายเสียด้วยซ้ำ

    การสอบสวนใช้เวลานานติดต่อกันกว่า 8 ชั่วโมง โดยบังคับให้อยู่ในท่าเดียว ไม่ให้หลับนอน ถูกข่มขู่ ตะโกนใส่พร้อมคำถามข่มขู่เพื่อให้สารภาพ น้อยคนที่เจอสภาพอย่างนี้แล้วจะไม่สารภาพเพื่อให้พ้นๆไปจากความทรมาน ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้ต้องสงสัยจะพบกับการถูกสอบสวนเพื่อให้สารภาพเช่นนี้โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ตระหนัก และไม่มีการต่อต้านให้เปลี่ยนแปลง

    ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นาน หลายคดีผุดขึ้นมาว่านักโทษมิได้กระทำอาชญากรรมจริง หากถูกศาลตัดสินเพราะคำสารภาพ มีอยู่รายหนึ่งถูกจำคุก 46 ปี เพิ่งถูกปล่อยตัวเมื่อไม่นานมานี้ เพราะศาลพบว่าตำรวจและอัยการร่วมมือกันสร้างหลักฐานเท็จ จนต้องยอมรับสารภาพ เขาบอกว่าเขาถูกสอบสวนวันละ 11 ชั่วโมง เป็นเวลา 23 วัน แถมถูกนวดตัวด้วยกระบองและถูกเข็มทิ่มเวลาเขาง่วงหลับ

    มีหลายคดีที่ติดคุกนับสิบๆ ปี เพราะคำสารภาพที่ไม่จริง และหลุดได้ในเวลาต่อมา เพราะการพิสูจน์ DNA รายการโทรทัศน์ของ Asahi เมื่อไม่นานมานี้ได้เปิดโปงเรื่องน่าสังเวชใจเช่นนี้ จนเริ่มปลุกสาธารณชนญี่ปุ่นให้หันมาสนใจระบบยุติธรรมที่เน้นการสารภาพ มีประมาณการว่าร้อยละ 10 ของนักโทษติดคุกเพราะยอมสารภาพ ทั้งที่มิได้กระทำผิดจริง

    พฤติกรรมของอัยการก็มีส่วนทำให้เกิดสภาพการณ์เช่นนี้ สถิติการชนะคดีที่ฟ้องของอัยการถือเป็นเรื่องใหญ่ จนบางคนต้องพยายามทำทุกวิถีทางให้ชนะ การตรวจสอบการทำงานของอัยการก็มีน้อย และการเป็นอัยการในญี่ปุ่นนั้นเป็นสถานะอันทรงเกียรติ

    การปฏิรูประบบยุติธรรมของญี่ปุ่นเริ่มขยับตัวด้วยการตัดสินคดีแบบมีลูกขุนโดยให้ประชาชนร่วมพิจารณาคดีตั้งแต่ปี 2009 นับถึงปัจจุบันมีผู้ร่วมเป็นลูกขุนประมาณ 50,000 คน สำหรับคดีอาชญากรรมร้ายแรง

    ในคุกญี่ปุ่นนั้นนักโทษก็ถูกกระทำอย่างโหดร้ายทางจิตวิทยา ถึงแม้จะมีสภาพแวดล้อมเป็นเยี่ยมก็ตาม นักโทษห้ามสบตาผู้คุมเด็ดขาด มีโอกาสอ่านหนังสือน้อย นักโทษคนหนึ่งบอกว่ามีอิสรภาพอย่างเดียวคือหายใจ ไม่ว่าจะทำสิ่งใดต้องขออนุญาตเสียก่อนแม้แต่การยืน นักโทษส่วนใหญ่นั่งกับพื้น จนเนื้อที่สัมผัสพื้นนานๆ ด้านจนเป็นแผล การถูกขังเดี่ยวโหดร้ายมากเพราะไม่ให้ทำอะไรนอกจากเพ่งมองประตูแต่เพียงอย่างเดียว

    นักโทษประหารนั้นยิ่งโหดร้ายมาก เพราะไม่บอกวันประหาร นักโทษต้องรออย่างไม่รู้วันตาย หัวใจเต้นแรงทุกครั้งที่ผู้คุมเดินผ่านหน้าประตู ท่ามกลางความเงียบสงัด นักโทษหันไปทางใดก็มีแต่ความเงียบและไม่มีอะไรให้ทำ ถึงแม้จะกินดีอยู่ดีก็ตาม

    นักวิชาการญี่ปุ่นบอกว่าผู้คนในกระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่นมีทางโน้มที่มองจากแง่ของเหยื่อมากกว่าที่จะมองจากมุมของผู้ต้องสงสัย เช่นไม่พิจารณาสภาพแวดล้อมของผู้ต้องสงสัยที่ทำให้เกิดอาชญากรรมขึ้น เมื่อแนวคิดเป็นเช่นนี้ ผลลัพธ์จึงเป็นไปในทิศทางของการลงโทษรุนแรง ถึงแม้จะอ้างว่าไม่ใช่การแก้แค้นหากเป็นการพยายามทำให้ปรับตัวเป็นคนดีก็ตาม

    การบังคับให้สารภาพเพื่อเอาผิดเป็นวิธีการแบบโบราณทั่วโลกเมื่อหลายร้อยหลายพันปีก่อน ถึงแม้จะได้คนสารภาพแต่ก็มิได้หมายความว่าได้ความจริงว่าใครเป็นคนผิด ในประวัติศาสตร์ของไทยมีคนถูกลงโทษผิดๆ เพราะคำสารภาพเนื่องจากการทรมานมีมากมาย

    บางสิ่งที่เราเห็นว่าดีจากข้างนอกนั้นบ่อยครั้งเมื่อเจาะลึกลงไปก็อาจพบสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เป็นได้ การไว้ใจตาของตนเองแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ใช้สมองและจิตใจที่พยายามค้นหาความจริงประกอบจึงเป็นเรื่องที่สมควรใคร่ครวญโดยแท้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่