พระนามของพระพุทธเจ้า

กระทู้สนทนา


  สิทธัตถะ  
    มาจากคำบาลี ๒ คำ คือ
                    สิทฺธ แปลว่า ประสบแล้ว กับ
                    อตฺถ แปลว่า ความปรารถนา
     รวมมีความหมายว่า ผู้ที่สมความปรารถนาแล้ว
     ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่าพระพุทธเจ้ามีพระนามเดิมว่ากระไร แต่ที่ยอมรับกันทั่วไปว่า สิทธัตถะเป็นพระนามเดิมของพระองค์ เนื่องจากเป็นชื่อที่พบในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถา ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยหลัง มีใจความว่า
      เมื่อพระนางสิริมหามายาประสูติพระกุมารผู้มีบุคลิกลักษณะเป็นมหาบุรุษได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะได้ประชุม
พราหมณ์ผู้มีความสามารถทางพยากรณ์ มาพยากรณ์พระชะตาและถวายพระนาม พราหมณ์ทั้งหลายเห็นลักษณะมงคลของพระกุมารจึงถวายคำพยากรณ์ว่า หากกุมารนี้ไม่ได้ออกผนวช จะได้เป็นมหาจักรพรรดิแห่งโลก หากออกผนวชก็จะได้เป็นศาสดาที่ยิ่งใหญ่ จึงพร้อมใจกันถวายพระพรว่า
สิทธัตถะ ซึ่งแปลว่า ขอทรงเป็นผู้สมความปรารถนา
    คำนี้หากใช้รูปคำสันสกฤต จะใช้คำว่า สิทธารถะ หรือ
สิทธารถ

     สมณโคดม
      โคดม มาจากบาลี สันสกฤตว่า โคตม มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า  พระอาทิตย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด  หรือ  วัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
      โคตมะ เป็นชื่อของฤาษีโบราณตนหนึ่ง หลักฐานจากคัมภีร์พระเวทกล่าวว่า โคตมะ เป็นชื่อบรรพบุรุษรุ่นแรกๆ ของมนุษย์ มีลูกหลานมากมาย คงเป็นชื่อผู้นำเผ่าหนึ่ง ผู้ที่สืบสกุลมาจากฤาษีโคตมะ จึงใช้ชื่อว่า โคตม หรือ โคตมโคตร หลักฐานบางแห่งก็ใช้ว่า อาทิตยโคตร เพราะคำว่า โค แปลว่า
วัว หรือ พระอาทิตย์ ก็ได้
     การที่มีผู้เรียกพระนาม สมณโคดม  ก็เพื่อระบุชี้ชัดว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่มีชื่อว่า
โคตมะ เมื่อใช้ว่า สิทธัตถะโคตม โคตร ก็หมายถึง เจ้าชาย
สิทธัตถะผู้เป็นลูกหลานของฤาษีโคตมะ นั่นเอง
      คำว่า สมณโคดม เป็นคำที่คนทั่วไปใช้เรียกพระพุทธเจ้าเพื่อยกย่องวงศ์ตระกูลของพระองค์ด้วย

      ตถาคต
      เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ เป็นสรรพนามเรียกพระองค์เอง คำนี้มีความหมายแท้จริงว่ากระไรไม่มีใครทราบ แต่นิยมแปลกันว่า ผู้ไปแล้วอย่างนั้น  เนื่องจาก
      ตถา แปลว่า อย่างนั้น ดังนั้น ฉันนั้น
      คต  แปลว่า  ไปแล้ว นั่นเอง
      "ผู้ที่ไปแล้วดังนั้น" สันนิษฐานว่าอาจจะหมายถึง ผู้ที่ได้ดำเนินไปสู่ทางที่ถูกต้อง นั่นคือ ผู้ที่กำลังจะดำเนินไปสู่แดนแห่งพระนิพพาน เนื่องจากได้กำจัดอาสวะกิเลสในสันดานให้หมดสิ้นไปแล้ว หลักฐานที่สนับสนุนคำแปลก็คือ ข้อความหลายๆ แห่งในพระสูตรได้ใช้คำว่า ตถาคต เป็นสมญานามเรียกพระอรหันต์ด้วย
     อาจแยกศัพท์ได้ว่า ตถา + อาคต แปลว่า ผู้มาแล้วอย่างนั้น หมายถึง ผู้มาเพื่อชี้ทางไปสู่ทางที่ถูกต้อง คือ ทางพระนิพพาน
      ในสมัยพุทธกาล คำว่าตถาคตเป็นคำสามัญที่เข้าใจกันดีในหมู่พุทธศาสนิกชน และพวกต่างศาสนา คำว่า ตถาคต
เป็นคำที่เกิดในสมัยพุทธกาล เพราะไม่พบคำนี้ในงานเขียนที่มีมาก่อนพุทธกาลเลย
        ภาษาจีนแปลคำว่าตถาคต ว่า ยูหลาย  ตามรูปศัพท์
แปลว่า ผู้มาแล้วอย่างนั้น คนไทยรู้จักในสำเนียงว่า ยูไล
พระยูไล เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในศาสนาพุทธนิกายมหายาน    



พระโลกนาถ
                         ใช้เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้า บางทีก็ใช้เรียกพระเป็นเจ้าในศาสนา
พราหมณ์ บางทีก็ใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดิน
       มาจากคำบาลี สันสกฤต คือ  
       โลก  แปลว่า โลก สัตว์โลก ชาวโลก
       นาถ  แปลว่า ที่พึ่ง รวมความว่า  ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก หรือชาวโลก
ในภาษาสันสกฤต  โลกนาถ หมายถึงพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามของฮินดู คือ พระพรหม
พระวิษณุ และพระศิวะ แต่ที่ใช้ในความหมายทั่วไปหมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน
        เหตุที่ได้รับสมญานามนี้ เพราะพระองค์ได้ตรัสรู้ธรรมะอันล้ำเลิศอริยสัจ ๔
และปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นความรู้ที่ใช้ในการกำจัดอาสวะกิเลสหมดสิ้นไปจาก
จิตใจ แล้วทรงนำธรรมะนี้มาสั่งสอนชาวโลก ซึ่งมีดวงปัญญา สามารถสั่งสอนให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรมแห่งสังสารวัฏ
         พระองค์ทรงอุทิศ เวลาตลอดพระชนม์ชีพหลังจากตรัสรู้แล้ว ในการสั่งสอน
ชาวโลกและเทวดา เพื่อให้พ้นจากบ่วงกรรมนี้ จึงได้รับสมญาว่า พระผู้เป็นที่พึ่ง
ของสัตว์โลกทั้งทวล

         สัพพัญญู
                      มาจากภาษาบาลี แปลว่า ผู้รู้และเข้าใจความเป็นไปของสรรพสิ่ง
คนทั่วไปมักแปลว่า ผู้รอบรู้
          เป็นสมญาที่คนทั่วไปเรียกพระองค์ ด้วยความยกย่องเป็นอย่างยิ่งว่า
เป็นผู้ที่ล่วงรู้ความเป็นไปของสรรพสิ่งในโลก ในจักรวาล และในโลกแห่ง
พระนิพพาน
          ในคัมภีร์สุตตันตปิฎกกล่าว่า พระพุทธเจ้าทรงมีความรู้ ๓ ประการคือ
ความรู้เกี่ยวกับการเกิดในอดีตชาติของสรรพสัตว์ ความรู้เกี่ยวกับการบังเกิดขึ้น
และดับไปของสรรพสัตว์ สรรพสิ่ง และความรู้ในการกำจัดอาสวะกิเลสให้หมด
สิ้นไป นอกจากนี้คัมภีร์ในสมัยหลังยังกล่าวอีกว่า ทรงมีความรู้เกี่ยวกับโลก
และจักรวาลด้วย
          ในพระสูตรและอรรถกถาต่างๆ กล่าว่า เมื่อมนุษย์ เทวดา หรือพระอรหันต์
มีปัญหาสงสัยเกี่ยวกับข้อธรรมะ หรือปรากฏการณ์ใดๆ จะทูลถามพระพุทธองค์เสมอ พระพุทธเจ้าเป็นผู้รอบรู้เพียงพระองค์เดียว จึงได้รับยกย่องว่า
พระสัพพัญญู  

ทศพล
                   มาจากสันสกฤต ๒ คำ คือ ทศ แปลว่า ๑๐ กับ พล แปลว่า กำลัง
กำลังทัพ      รวมกันว่า ผู้มีกำลังเหนือกว่าผู้อื่น ๑๐ เท่า
         พระนามเป็นการเปรียบเทียบอำนาจธรรมะของพระพุทธองค์ว่า มีอานุภาพ
ยิ่งใหญ่เหนืออำนาจของนักรบถึง ๑๐ เท่า หรือมีอานุภาพเทียบเท่ากำลังพลถึง
๑๐ กองพล
         พระพุทธเจ้าทรงสามารถเอาชนะกิเลสทั้ง ราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นสิ่งที่
เอาชนะได้ยากยิ่ง ก่อนที่จะตรัสรู้ได้ทรงต่อสู้กับกิเลสและความเย้ายวนของ
ความสุขทางโลก ซึ่งปรากฏในรูปของทัพพระยามารและธิดาทั้งสาม
         ทรงเอาชนะทัพพระยามารด้วยกำลังบารมี ๑๐ ซึ่งเปรียบได้กับกำลังพล
ถึง ๑๐ กองพล



         สัมมาสัมพุทธเจ้า
                           เป็นคำที่คนไทยคุ้นหูมากที่สุด
         มาจากคำว่า สมฺมา  กับ สมฺพุทฺธ ในภาษาบาลี  และ เจ้า ในภาษาไทย
สมฺมา  แปลว่า โดยชอบ โดยตลอดอย่างสมบูรณ์ หรืออย่างถูกต้อง
สมฺพุทฺธ  แปลว่า  ผู้ทีรู้หรือผู้ที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ด้วยพระองค์เอง
เจ้า  แปลว่า  ผู้เป็นใหญ่  แปลรวมกันว่า
          พระผู้ทรงรู้และเข้าใจความเป็นไปของสรรพสิ่ง และสรรพชีวิตในโลก
และในจักรวาลอย่างถ่องแท้ หมายถึง พระผู้ทรงรู้ความจริงอันประสริฐ ได้แก่
รู้ถึงสาเหตุของการเกิดและการดับของชีวิตและสิ่งต่างๆ รู้ถึงอดีตภพของสรรพ
ชีวิต รู้ถึงทุกข์ ความไม่เที่ยง มูลเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ การขจัดทุกข์ และวิธีในการ
ดับทุกข์ โดยใคร่ครวญตามหลักแห่งเหตุผล เพื่อการดับทุกข์ให้หมดไปโดยสิ้นเชิง
        จึงเป็นพระนามที่พุทธศาสนิกชนใช้เพื่อสรรเสริญพุทธปัญญา ที่สามารถ
ตรัสรู้ธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง

       พุทธมามกะ
                   มาจากคำบาลี ๒ คำ
     พุทธ  แปลว่า  รู้แล้ว หรือ ตื่นแล้ว หมายถึงผู้ตรัสรู้อริยสัจ คือ พระพุทธเจ้า
     มามกะ  แปลว่า  เป็นของเรา
     พุทธมามกะ จึงแปลว่า ผู้ที่นับถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นของเรา
     ใช้เป็นคำเรียกผู้ที่ได้ปฏิญาณตนขอนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว
     ในการประกอบพิธีปฏิญาณตนต่อหน้าพระสงฆ์
     สำหรับผู้เป็นชายใช้คำแทนตัวว่า พุทธมามกะ  ส่วนผู้หญิงใช้คำแทนตัวว่า
พุทธมามิกา
    
พุทธางกูร
        จากบาลีสันสกฤต พุทธ หมายถึง พระพุทธเจ้า
                                    องฺกูร แปลว่า หน่อ หรือ ต้นอ่อนของพืช
        แปลรวมว่า เนื้อหน่อที่จะเจริญเติบโตไปเป็นพระพุทธเจ้า
        หมายถึงพระโพธิสัตว์ผู้พากเพียรบำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้ไปเกิดเป็น
พระพุทธเจ้า


        
       พระชินสีห์
         มาจากบาลี  ชิน  แปลว่า  ผู้ชนะ
                             สีห  แปลว่า  ราชสีห์ หรือ สิงโต จึงแปลว่า
                             ราชสีห์ผู้ชนะ  ราชสีห์เป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ มีพละ
กำลังมาก ท่วงท่าสง่างาม เป็นที่เกรงขาม ได้รับการยอมรับให้เป็นเจ้าแห่ง
สัตว์บกทั้งหลาย การที่พุทธศาสนิกชนใช้คำว่า สีห มาเป็นพระนามพระองค์
ก็เพราะเปรียบกำลังแห่งพระปัญญา อำนาจแห่งธรรมอันบริสุทธิ์ลึกซึ้ง และ
ความเป็นใหญ่กว่าบุคคลอื่นของพระองค์ กับกำลังอำนาจและความเป็นใหญ่
ของราชสีห์

         ชินราชา หรือ ชินราช
          แปลว่า  ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ผู้ชนะ  หรือ ราชาแห่งวีรบุรุษ  เป็นคำที่พบใน
วรรณคดีพุทธศาสนาภาษาไทย เช่น ปฐมสมโพธิกถา
          การที่กวีไทยถวายพระสมัญญานามว่า ชินราชา ก็เพื่อเปรียบเทียบ
ชัยชนะของพระองค์ที่มีเหนืออาสวะกิเลส ว่ามีความยิ่งใหญ่กว่าชัยชนะของ
วีรบุรุษผู้ชำนาญการรบจนมีชัยเหนือศัตรู  ชัยชนะของพระพุทธเจ้าเป็นชัยชนะ
ที่มีเหนือศัตรูร้ายคือ ความโลภ โกรธ หลงของพระองค์เอง เป็นชัยชนะเหนือ
จิตใจพระองค์เอง เป็นชัยชนะที่มิได้มาจากความพินาศหรือความเดือดร้อน
ของผู้อื่น ชัยชนะของพระองค์จึงยิ่งใหญ่กว่าชัยชนะของวีระบุรุษอื่นๆ ทรงเป็น
ราชาแห่งวีระบุรุษ ราชาแห่งผู้ชนะทั้งหลาย

          พระชินวร
          มาจากบาลีสันสกฤต  ชิน  แปลว่า  ผู้ชนะ ในวรรณคดีพุทธศาสนา
หมายถึงพระพุทธเจ้า            วร  เมื่อใช้เป็นคำขยายนาม แปลว่า  เลิศ
ประเสริฐ  
          ชินวร  อาจแปลว่า บุคคลผู้ประเสริฐซึ่งเป็นผู้ชนะ
          บุคคลผู้ประเสริฐเพราะสามารถเอาชนะกิเลสและความเย้ายวนต่างๆ
ทางโลกได้อย่างเด็ดขาด
          คำว่าชินวร จึงมีความหมายคล้ายคำว่า ชินราชา และ ชินสีห์
                           ไม่ปรากฏใช้ในวรรณคดีพุทธศาสนาในภาษาบาลีสันสกฤต
หากปรากฏเป็นศัพท์ทางวรรณคดีไทย หรือใช้เป็นชื่อพระพุทธรูป พระภิกษุ



   พระศากยมุนี
        มาจากสันสกฤต ศากย  แปลว่า ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวศกะ
ศากยะ เป็นชื่อนักรบเผ่าหนึ่ง มีผิวเหลือง สันนิษฐานว่าเป็นพวก Indo -
Scythians ซึ่งมีกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ว่าได้เข้ามาครอบครองอินเดีย
ตอนเหนือในสมัยก่อนพุทธกาล ชาวศากยะมีนครหลวงที่กรุงกบิลพัสดุ์
มีหลายโคตรวงศ์ ที่สำคัญคือโคตรวงศ์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งกล่าวว่าสืบเชื้อสาย
มาจากฤาษีโคตมะ
            มุนี  แปลว่า ผู้เรียน  ผู้บำเพ็ญสมาธิ
            ศากยมุนี  จึงแปลว่า  พระมุนีชาวศากยะ เป็นสมัญญานามที่ใช้เรียก
พระพุทธเจ้าเพื่อยกย่องเผ่าพันธุ์ของพระองค์
            การที่เรียกว่า มุนี นั้น ก็เพราะพระองค์เป็นผู้ใฝ่หาความสงบเงียบ
เพื่อตั้งจิตบำเพ็ญสมาธิ

          พระผู้มีพระภาคเจ้า
          แปลจากภาษาบาลีว่า ภควนฺตุ คำนี้ถ้าปรากฏเป็นประธานในประโยค
ก็จะเปลี่ยนรูปเป็น ภควา
          แปลตามรูปศัพท์ว่า  ผู้มีโชค  ผู้มีความสุข
          เป็นคำที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในสังคมอินเดียโบราณ ใช้เรียกผู้มีอาวุโส
ผู้มีสติปัญญาเลิศ หรือผู้ที่อยู่ในสถานภาพสูงสุดของสังคม นอกจากนี้ยังใช้เป็น
คำเรียกเทพเจ้าด้วย
          การที่พุทธศาสนิกชนออกพระนามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะต้องการ
ยกย่องพระองค์ว่า เป็นผู้มีอาวุโส มีสติปัญญาเหนือผู้อื่นสามารถตรัสรู้ธรรมะ
อันลึกซึ้ง นอกจากนี้ยังใช้เพื่อยกย่องว่า ทรงมีสถานภาพสูงสุด และอยู่เหนือ
พุทธบริษัททั้ง ๔ และทรงเป็นผู้มีความสุขอันเนื่องมาจากการดับอาสวะกิเลส
ได้จนหมดสิ้นแล้ว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่