ภาพเมืองจีนโดยจิตรกรอังกฤษที่ติดตามคณะทูตไปเยือนจีนสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง

ปี ค.ศ.1793  จักรพรรดิเฉียนหลงปีที่ 58  อังกฤษสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 3 ได้ส่งเอิร์ลจอร์จ แมคคาร์ทนีย์ เป็นหัวหน้าคณะทูตเดินทางมายังประเทศจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิเฉียนหลงเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี  

วิลเลียม  อเล็กซานเดอร์  ( William  Alexander , 1767-1816 )  จิตรกรชาวอังกฤษได้ติดตามคณะทูตเอิร์ลแมคคาร์ทนีย์เดินทางมาประเทศจีน  ซึ่งระหว่างการเดินทางนี้เขาได้วาดภาพสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนสมัยเฉียนหลงเอาไว้  


นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1760  บริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษก็เริ่มค้าขายกับจีน แต่เนื่องจากนโยบายการค้าปิดประเทศของราชสำนักต้าชิง  
การค้าขายระหว่างอังกฤษ - จีน จึงจำกัดอยู่แค่เมืองกว่างโจวที่เปิดให้เป็นเมืองท่าติดต่อค้าขายเพียงแห่งเดียว
พ่อค้าอังกฤษต้องค้าขายกับตัวแทนการค้าที่ทางการจีนแต่งตั้งเท่านั้น  ต้องค้าขายและพักอยู่อาศัยนอกกำแพงเมืองกว่างโจว
ที่เรียกกันว่า ย่าน “สิบสามห้าง”    ดังนั้นเพื่อขจัดข้อจำกัดด้านการค้า และหวังจะก่อตั้งสถานกงสุลขึ้นที่ปักกิ่ง  
ด้วยการผลักดันของบริษัทอีสต์อินเดีย  อังกฤษจึงส่งคณะทูตพิเศษมายังประเทศจีนเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี

ก่อนหน้านั้น ในปี ค.ศ.1788  อังกฤษส่ง Charles Cathcart (1760-1788) เป็นหัวหน้าคณะทูตมายังประเทศจีนครั้งแรก
แต่ว่าไม่ประสบความสำเร็จ   เพราะว่า Cathcart เกิดล้มป่วยและเสียชีวิตระหว่างทาง คณะทูตชุดนั้นจึงจำต้องเดินทางกลับอังกฤษ
และจิตรกรที่ติดตามคณะทูตนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนคืออาจารย์ของวิลเลียม อเล็กซานเดอร์ ชื่อ Julius Caesar Ibbetson นั่นเอง  

ต่อมา เมื่อเอิร์ลแม็คคาร์ทนีย์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตไปจีนก็ได้เชิญ Ibbetson ให้ติดตามคณะไปด้วย แต่เขาปฏิเสธคำเชิญ
และได้แนะนำวิลเลียม  อเล็กซานเดอร์  ลูกศิษย์ที่เพิ่งจบจากสถาบันศิลปะ Royal Academy Schools

แต่ว่าจิตรกร (painter) ประจำคณะทูตนี้ ไม่ใช่วิลเลียม  อเล็กซานเดอร์  แต่เป็น Thomas Hickey (1741-1824)  
แม้ว่าการเดินทางครั้งนี้ผลงานของ Hickey มีอยู่ไม่กี่ภาพ  แต่ผลงานภาพที่เกิดขึ้นในการเดินทางครั้งนี้ส่วนใหญ่กลับเป็นผลงานของ
วิลเลียม  อเล็กซานเดอร์ ที่ทำหน้าที่เป็นนักสเก็ตช์ภาพ (draughtsman)  เป็นผู้ช่วยจิตรกรประจำคณะทูต



26  ก.ย. 1792   คณะทูตของเอิร์ลแมคคาร์ทนีย์ ออกจากท่าเรือพลีมัธ ประเทศอังกฤษเดินทางสู่ประเทศจีน  
มีบริษัทอีสต์อินเดียสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
เอิร์ลแมคคาร์ทนีย์และคนติดตามใกล้ชิดอยู่บนเรือ Lion ของบริษัทอีสต์อินเดีย  
อเล็กซานเดอร์ขณะนั้นอายุ 25 ปี อยู่บนเรือลำที่สอง Hindostan  
เรือลำนี้ได้บรรทุกสิ่งของที่จะเตรียมนำไปเป็นของขวัญถวายให้กับจักพรรดิจีน

เส้นทางที่ไปประเทศจีน  แล่นไปทางทวีปแอฟริกาอ้อมผ่านแหลมกู้ดโฮ้บ  มหาสมุทรอินเดีย  ผ่านช่องแคบมะละกา เข้าสู่ทะเลจีนใต้  
14 พ.ค. 1793  เดินทางมาถึงมาเก๊า  ใช้เวลา 9 เดือนมาถึงประเทศจีน  ตรงกับปีที่ 58 ในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง  

จากนั้นเรือก็แล่นจากมาเก๊าขึ้นเหนือมาถึงหมู่เกาะโจวชาน  แวะจอดพักที่นี่  และหาคนนำทางพาขึ้นทางเหนือเลียบแม่น้ำไป่เหอ
เมื่อคณะทูตมาถึงปากน้ำเมืองต้ากู ก็ได้พบกับขุนนางชิงที่ทางการส่งมาให้การต้อนรับนำทาง 2 คน
คือใต้เท้าหวาง (หวางเหวินสุง) กับใต้เท้าเฉียว (เฉียวเหรินเจี๋ย)  

คณะทูตขนย้ายสิ่งของสัมภาระและของขวัญซึ่งทางการจีนเข้าใจว่านี่คือของบรรณาการจิ้มก้อง
จากเรืออังกฤษย้ายมายังเรือจีนที่อยู่บนแม่น้ำในประเทศที่ทางการจีนจัดเตรียมไว้ให้

16 ส.ค. 1793  เดินทางเลียบแม่น้ำไป่เหอจนมาถึงเมืองทงโจว ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองปักกิ่ง 12 ไมล์
และที่นี่เป็นจุดสิ้นสุดของคลองต้ายุ่นเหอ  Grand Canal

จากนั้นคณะทูตก็ขึ้นจากเรือเปลี่ยนมาเป็นการเดินทางทางบกสู่เมืองปักกิ่ง
อันเป็นเส้นทางที่แสนทุลักทุเล  มีเพียงเอิร์ลแมคคาร์ทนีย์กับผู้ติดตามที่ได้นั่งเกี้ยว  
ส่วนคนอื่นในคณะต้องนั่งรถม้าซึ่งไม่มีที่กันกระแทก  และต้องทนกับอากาศร้อน  ฝุ่นดิน

อเล็กซานเดอร์ได้เขียนในบันทึกของตนว่า  เนื่องจากดวงตาไม่ค่อยดี  ต้องใส่ที่ปิดตาที่ทำด้วยผ้าไหม
และต้องนั่งขัดสมาธิ  มือก็ถือพัด  คนอื่นก็ใส่แว่นกันลมเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นทรายปลิวเข้าตา  ดูแล้วช่างเป็นภาพที่น่าขบขัน  



เมื่อมาถึงปักกิ่งทางราชสำนักชิงได้จัดให้คณะทูตพำนักที่อุทยานหยวนหมิงหยวน  ห่างจากตัวเมืองไป 7 ไมล์
แต่ฝ่ายอังกฤษกลับรู้สึกเหมือนว่าพวกเขาถูกจำกัดบริเวณ

คณะทูตอังกฤษรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างเฉยเมยจากฝ่ายจีน  ไม่ให้เกียรติ  ไม่ได้เป็นไปตามมารยาทที่พึงควรปฏิบัติทางการทูต
โดยเฉพาะเรื่องที่เอิร์ลแมคคาร์ทนีย์ปฏิเสธที่จะคุกเข่าคำนับจักรพรรดิจีน 3 ครั้งตามธรรมเนียมปฏิบัติแบบของจีน

จักรพรรดิเฉียนหลงขณะนั้นย้ายไปอยู่ที่พระราชวังเร่อเหอเมืองเฉิงเต๋อจนถึงปลายตุลาคม  
ทางราชสำนักชิงจึงจัดให้คณะทูตอังกฤษเดินทางไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิเฉียนหลงที่พระราชวังเร่อเหอ
แต่ปรากฏว่ารายชื่อที่ได้ไปพระราชวังเร่อเหอไม่มีอเล็กซานเดอร์และจิตรกรประจำคณะติดตามไปด้วยให้อยู่ที่ปักกิ่ง
พวกเขาต้องถูกกักบริเวณไว้ที่หยวนหมิงหยวน ไม่มีอิสระในการไปไหนมาไหน คล้ายกับนักโทษ


แต่เนื่องจากเฉียนหลงไม่พอใจที่ทูตอังกฤษไม่ยอมคุกเข่าคำนับ  
เมื่อพระองค์กลับมาถึงปักกิ่งก็สั่งให้รีบพาคณะทูตอังกฤษออกจากจีนไปโดยเร็ว  
ซึ่งไม่เป็นไปตามแผนเดิมที่เอิร์ลแมคคาร์ทนีย์คิดไว้ว่าจะอยู่ปักกิ่งจนถึงฤดูใบไม้ผลิปีถัดไป  



7 ต.ค. 1793  คณะทูตอังกฤษจึงออกเดินทางจากปักกิ่งลงใต้
เส้นทางกลับของคณะทูตออกจากปักกิ่งมาทางภาคพื้นลงใต้ไปกว่างโจว โดยนั่งเรือเลียบแม่น้ำไป่เหอและคลองต้ายุ่นเหอ
ใช้เวลาราว 1 เดือนก็มาถึงจุดสิ้นสุดของคลองต้ายุ่นเหอ -- เมืองหางโจว  

7 พ.ย. 1793  ก่อนจะถึงเมืองหังโจว 3 วัน  ตัวอเล็กซานเดอร์และคนอื่นอีกบางคนในคณะก็ถูกแจ้งว่าให้หยุดเดินทางทางบกที่จะลงใต้
แต่ให้ไปที่เมืองโจวชานเพื่อขึ้นเรืออังกฤษ Hindostan ที่ทอดสมอจอดรออยู่  แล้วเดินทางไปทางทะเลจนถึงเมืองกว่างโจวแทน  
เป็นการเสียโอกาสที่เขาจะได้วาดภาพวิถีชีวิตของผู้คนทางใต้  แน่นอนว่าอเล็กซานเดอร์ไม่พอใจเป็นอย่างมาก

12 ธ.ค. 1793  เดินทางมาถึงกว่างโจว  จากนั้นไปพักที่มาเก๊า เขตเช่าโปรตุเกส  
10 ม.ค. 1794  คณะทูตออกจากกว่างโจว
10 ก.ย. 1794  เดินทางกลับถึงอังกฤษ    


คณะทูตของลอร์ดแมคคาร์ทนีย์มาจีนในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อขจัดข้อจำกัดทางการค้า
แต่ผลการเจรจากลับไม่ประสบความสำเร็จ   จักรพรรดิเฉียนหลงมองอังกฤษมาในฐานะเสมือนประเทศราชที่ส่งเครื่องบรรณาการให้กับจีน
ต้องการให้อังกฤษปฏิบัติตามธรรมเนียมของราชสำนักชิง  ขณะที่เอิร์ลแมคคาร์ทนีย์ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม ไม่ยอมคุกเข่าคำนับเฉียนหลง
เรื่องนี้กลายเป็นที่โจษขานกันในยุโรป



*** ยังมีต่อ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่