10 ข้อควรรู้ “โซล่าร์เซลล์หลังคาบ้าน”

เนื่องจากในช่วงนี้พลังงานแสงอาทิตย์ จากโซล่าร์เซลล์กำลังมาแรง โดยเฉพาะ Solar Roof Top หรือ โซล่าร์เซลล์บนหลังคาบ้าน แต่หลายๆ คนยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับโซล่าร์เซลล์ ดังนั้นในฐานะที่ผมอยู่ในวงการนี้ และรู้เรื่องเหล่านี้บ้าง จึงอยากจะเรียบเรียง และถ่ายทอดออกมาให้ครบที่สุดครับ มี 10 ข้อที่ประชาชนควรรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับ "โซล่าร์เซลล์หลังคาบ้าน" เนื้อหายาวจึงขอแบ่งเป็น 1 โพสกับ 9 คอมเมนต์นะครับ ^^

บทความต่อไปทางผมเขียนมาจากประสบการณ์โดยตรง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ส่วนไหนดีก็บอกว่าดี ไม่ดีก็จะไม่กั๊ก ถ้ามีคำแนะนำใดๆ เพิ่มเติม ยินดีแลกเปลี่ยน และรับฟังความคิดเห็นทุกท่าน คอมเมนต์มาได้เลยครับผม ^_^

1. ติดแล้วได้ประโยชน์อะไรบ้าง ?
    การติดตั้งโซล่าร์เซลล์ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยนั้น มีมานานหลายปีแล้ว แต่ที่เริ่มแพร่หลายจริงๆ จังๆ ก็ไม่เกิน 5-7 ปี โดยเติบโตขึ้นมากกว่า 320% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เทรนดังกล่าวชี้วัดได้ว่า มันไม่ใช่สิ่งที่ติดเพื่อคุยโม้โอ้อวด แต่ติดเพื่อประโยชน์จริงๆ วัดจากประสบการณ์การติดตั้งใน 5 ปีที่ผ่านมา ผมขอสรุปประโยชน์ของการติดแผงโซล่าร์เซลล์ดังนี้ครับ

>>>ติดตั้งเพื่อขายไฟให้การไฟฟ้า

    คือการแปลงสภาพหลังคาบ้านอันว่างเปล่าของเรา ไปเป็นโรงผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็ก และขายคืนให้กับการไฟฟ้าเลย ย้ำนะครับว่า “ไม่เกี่ยวกับการใช้ไฟในบ้านเราเลย”

    หลายคนสงสัยว่า แล้วการไฟฟ้าจะรับคืนไฟฟ้าได้อย่างไร คำตอบคือ “รับไฟมาทางไหน ก็จ่ายไฟคืนไปทางนั้น” แหล่ะครับ แหะๆ พูดง่ายๆ คือ กระแสไฟฟ้ามันไหลได้สองทางนั่นเอง ครับผม แต่อย่างไรก็ตาม การไฟฟ้าจะไม่อนุญาติให้จ่ายไฟย้อนมิเตอร์เดิมของบ้าน (ถึงทำได้ก็ผิดกฎหมาย เข้าใจตรงกันนะครับ ^^)

    ดังนั้น เมื่อติดแผงโซล่าร์เซลล์แล้ว จะต้องมี “มิเตอร์ขายไฟ” เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ตัว ครับ เพื่อรับไฟจากบ้านเราคืนกลับไปยังการไฟฟ้า สรุปบ้านเราจะมีทั้ง “มิเตอร์ขายไฟ” และ “มิเตอร์ซื้อไฟ”(มิเตอร์เดิม) เรียกได้ว่า “ซื้อส่วนซื้อ ขายส่วนขาย” มิเตอร์ขายไฟหน้าตาประมาณด้านล่างนี้ครับ


รูปที่ 1 มิเตอร์ขายไฟ โซล่ารูฟท็อป


การขายไฟให้การไฟฟ้า โดยการติดแผงโซล่าร์ นั้น มีสองหน่วยงานที่รับซื้อ คือ
    (1) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) สำหรับคนอยู่ต่างจังหวัด และ
    (2) การไฟฟ้านครหลวง (MEA) สำหรับในกรุงเทพและปริมณฑล


รูปที่ 2 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครหลวง


    สาเหตุที่การไฟฟ้ารับซื้อไฟจากประชาชน เพื่อลดภาระในการผลิตกระแสไฟฟ้า แทนที่จะไปลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นมาจะดีกว่าครับ เรียกได้ว่า “ร่วมด้วยช่วยกัน” เพื่อให้ประเทศเรามีไฟฟ้าใช้อย่างพอเพียง

ทีนี้มาดูกันว่า เงื่อนไข ที่แต่ละบ้านจะมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นของตัวเอง มี 4 ข้อคือ

    - การไฟฟ้ายอมให้ผลิตได้ไม่เกิน 10kW ต่อหลังคาเรือน และมีโควต้าต่อชุมชนด้วย ซึ่งต้องปรึกษาการไฟฟ้าที่รับผิดชอบในชุมชนของท่าน
    - มิเตอร์ไฟฟ้าต้องเป็น ประเภทที่ 1 (เพื่ออยู่อาศัย) เท่านั้น วิธีการสังเกตว่า บ้านเราเป็นมิเตอร์ประเภทที่ 1 หรือไม่ ให้ดูจากบิลค่าไฟ ที่เราได้รับทุกเดือน ดังรูปครับ
    - จะต้องมีหลังคาบ้าน หรือโครงหลังคาบ้านที่พร้อมให้ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์
    - จะต้องขออนุญาติกับการไฟฟ้าใกล้บ้านท่าน ภายใน มิถุนายน 2558 และจะต้องเริ่มขายไฟเข้าระบบ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558


รูปที่ 3 บิลค่าไฟประเภทที่ 1


    ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์เพื่อขายไฟ เป็นทางเลือกที่ “เกิดให้ประโยชน์ทางการเงินสูงสุด” เพราะการไฟฟ้ารับซื้อไฟในอัตราที่แพงกว่า ค่าไฟปกติที่เราจ่ายกันยังไงล่ะครับ

    พูดง่ายๆ ก็คือ การไฟฟ้าขายไฟให้เราที่หน่วยละ 3-4 บาท (update พ.ค.2558) แต่การไฟฟ้ารับซื้อไฟจากเราในอัตราหน่วยละ 6.85 บาท ดังนั้นเราจึงไม่ควรติดตั้งแผงโซล่าร์เพื่อใช้ไฟในบ้านแต่เพียงอย่างเดียว ถ้ามีโอกาสขายได้ เน้นขายเถอะครับ คุ้มกว่ากันเยอะ
 
ประเทศไทยเคยมีโครงการรับซื้อไฟจากประชาชนมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกการไฟฟ้าให้ที่ราคา 6.96 บาท ส่วนครั้งล่าสุดให้ราคาที่ 6.85 บาท แนวโน้มดูจะลดลงนะครับ
 
สรุปการลงทุนเพื่อขายไฟ โดยการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคา แล้วจ่ายไฟให้กับการไฟฟ้าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสุด เพราะไม่ต้องมีแบตเตอรี่ ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับการใช้ไฟในบ้าน ทำให้เกิดการคืนทุนเร็วสุด ได้ผลตอบแทนคงที่ประมาณ 20% ตลอดระยะเวลาสัญญา 25 ปี จะรออะไรอีกล่ะครับ ^^


>>>ติดตั้งเพื่อใช้เอง

    การติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์อีกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาติการไฟฟ้า ซึ่งหลักการคล้ายกับการติดตั้งเพื่อขายไฟเลย เพียงแต่กระแสไฟฟ้าที่ได้ จะนำมาใช้ภายในบ้าน นั่นเอง

    การติดตั้งเพื่อใช้ไฟเองในบ้านสามารถแบ่งออกได้หลากหลายมากๆ เลยครับ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เท่าที่พบเจอกันบ่อยๆ มีดังนี้นะครับ
    (1) ต้องการลดค่าไฟฟ้าในบ้าน โดยให้แผงโซล่าร์ช่วยจ่ายกระแสไฟฟ้าในตอนกลางวัน (ตอนที่มีแดด)
    (2) ต้องการใช้งานตอนไม่มีไฟ หรือไฟดับ ซึ่งต้องใช้ แบตเตอรี่ เป็นตัวช่วยกักเก็บพลังงาน
    (3) ต้องการใช้กับกิจกรรมที่ไม่สะดวกที่จะใช้ไฟจากการไฟฟ้า เช่น ปั้มน้ำที่อยู่นอกบ้าน บ่อน้ำ ไฟถนน ไฟริมรั้ว กล้องวงจรปิดนอกตัวอาคาร เป็นต้น


รูปที่ 4 Solar Lighting โซล่าร์เซลล์สำหรับแสงสว่าง หลอด LED



รูปที่ 5 Solar Pump โซล่าปั้ม เครื่องสูบน้ำ


รูปที่ 6 ใช้โซล่าเซลล์ ควบคู่กับพลังลม Wind turbine


รูปที่ 7 Solar Mobile แบบเคลื่อนที่ได้ เหมาะกับใช้งานนอกสถานที่


รูปที่ 8 Solar ลดค่าไฟในโรงงาน สำหรับโรงงานที่มีค่าไฟเกิน 50,000 บาท ขึ้นไป


ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็แล้วแต่ ขอให้พึงระลึกไว้เสมอเลยนะครับว่า การติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ จะต้อง “มีการใช้ไฟ ถึงจะคุ้ม” ครับ ตราบใดที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ แต่ถ้าเราไม่มีการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าใดๆ เลย พลังงานที่ได้จะสูญเปล่า นอกจากจะมี “แบตเตอรี่” ไว้กักเก็บพลังงานครับ

แบตเตอรี่จะต้องเป็นแบบ Deep Cycle Battery เท่านั้น ถึงจะเหมาะสมกับการเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ เพราะความสามารถในการจ่ายประจุได้ลึก สูงสุดถึง 75% ของความจุแบตเตอรี่ (มันถึงเรียกว่า Deep ไง) ทำให้ในแบตความจุเดียวกัน แบตเตอรี่แบบนี้จ่ายไฟได้เต็มประสิทธิภาพมากกว่า แต่มีข้อเสียคือ ราคาสูง และไม่เหมาะกับการ ใช้ เปิด-ปิดโหลดบ่อยๆ เช่นการสตาร์ทรถยนต์ เพราะแบตเตอรี่ชนิดนี้ มีความสามารถในการทน trigger charge ต่ำ


รูปที่ 9 Deep cycle battery แบตเตอรี่ความจุสูง


ล่าสุด (2558)  บริษัท Tesla ผลิตแบตเตอรี่ความจุสูง ที่มีคุณสมบัติสำหรับเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีจุดเด่นคือสามารถชาร์จไฟอ่อน เข้าแบตเตอรี่ได้ตลอดเวลา แต่ราคาค่อนข้างสูงอยู่


รูปที่ 10 Tesla Powerwell นวตกรรมใหม่ของแบตเตอรี่


ถ้าต้องการใช้ไฟเฉพาะเวลาที่มีแดด ไม่ต้องมีแบตเตอรี่ แต่ถ้าต้องการใช้ไฟเวลาที่ไม่มีแดดด้วย จะต้องมี แบตเตอรี่ ด้วยครับ ซึ่งเรื่องแบตเตอรี่ เป็นสิ่งที่ต้องคุยกันยาวๆ ไว้คราวหน้าละกันครับ ^^

ทีนี้เมื่อมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้นมาดังกล่าว จึงทำให้การติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ไฟเองโดยตรง จะคุ้มค่าน้อยกว่าการขายไฟให้กับการไฟฟ้า

แต่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่น่าลงทุนนะครับ ตรงกันข้าม มันมีแนวโน้มจะคุ้มค่าไปเรื่อยๆ เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี และถือเป็นพลังงานสะอาด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อีกอย่าง ถ้าเราติดตั้งเพื่อใช้ไฟไปแล้ว ในอนาคตเราอาจจะสามารถขายไฟให้การไฟฟ้าได้ ถ้ารัฐบาลเปิดสิทธิ์รอบใหม่ ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก เพราะได้ยินแว่ว ๆ ว่าจะมีการเปิดเสรีโซล่ารูฟท้อปส์ ซึ่งร่างกฎหมายนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาครับ (หวังว่าจะไม่ทะเลาะกันนานเกินไปนะครับ รีบออกมาเสียที ฮาๆ)

และยิ่งถ้าคุณใช้ไฟในเวลากลางวัน จำนวนมากๆ และสม่ำเสมอแล้วล่ะก็ การติดแผงโซล่าร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่าไม่น้อย ยิ่งตอนนี้ มีการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้ออุปกรณ์โซล่าร์เซลล์ ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ 6-8%) ทำให้เราไม่ต้องลงทุนเงินก้อนโตมาก เพียงแต่แบ่งกำไรจากการประหยัดค่าไฟให้กับผู้ปล่อยสินเชื่อเท่านั้นเอง

(อีก 9 ข้อกำลังตามมาครับ)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่